วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โครงการหลวงดอยอินทนนท์



สถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์



            เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาคการเกษตรยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ตลอดจนป้องกันการบุกรุกป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการทำไร่เลื่อนลอย มาทำการเกษตรในพื้นที่ถาวร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 ได้จัดตั้งหน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งของสถานีหลักประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อดำเนินงาน ด้านการวิจัยและการผลิตไม้ผลเมืองหนาว ไม้ผลกึ่งเขตร้อน และพืชไร่ต่าง ๆ

ค่าธรรมเนียมการเข้าชม คนละ 20 บาท

วัตถุประสงค์ของสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์
1. เพื่อให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่งทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย
2. นำพืชเศรษฐกิจส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น
3. ถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ ๆ ให้แก่ชาวเขา เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ เพิ่มรายได้ต่อครอบครัว และลดการใช้พื้นที่ในการทำเกษตร
4. เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ความรู้แก่ชาวเขาในเรื่องการใช้ที่ดิน พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการทำการเกษตรก็ให้ฟื้นสภาพป่าคืนมา ส่วนพื้นที่ลาดชันพอที่จะทำการเกษตรได้ ก็ให้ปลูกไม้ยืนต้นและปลูกพืชแบบขั้นบันไดเพื่อลดการชะล้างหน้าดิน ส่วนพื้นที่ที่ไม่ลาดชัน ก็ให้ปลูกพืชผักหรือไม้ดอกหมุนเวียน
สถานที่ตั้ง

        สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ อยู่ในเขตหมู่บ้านขุนกลาง หมู่ 7 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงสถานีประมาณ 90 กิโลเมตร โดยถนนเชียงใหม่-ฮอด และแยกขึ้นดอยอินทนนท์ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 ชั่วโมง ความสูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,500 เมตร อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส

ลักษณะทางกายภาพ

          เป็นหุบเขา มีความลาดชันตั้งแต่ 10-60 เปอร์เซ็นต์ แนวเขาที่ทอดไปในแนวสันชัน แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองทิศทาง คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยจะผันน้ำแม่ปิงทางทิศตะวันออก และลงสู่แม่น้ำแม่แจ่มทางทิศตะวันตก จำนวนพื้นที่ของสถานีรวม 777 ไร่ แบ่งเป็นสถานีหลักมี 62 ไร่ หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง 489 ไร่ หน่วยแม่ยะน้อย 115 ไร่ และหน่วนดอยผาตั้ง 111 ไร่ มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบจำนวน 15 กลุ่มบ้าน ราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงและเผ่าม้ง

ลักษณะการดำเนินงาน
1. งานวิจัย
1.1 งานวิจัยที่ดำเนินการในพื้นที่สถานีหลัก (อินทนนท์)
1.1.1 งานวิจัยไม้ดอก ดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องการผสมพันธุ์หน้าวัว , เยอร์บีร่าเพื่อตัดดอก , การศึกษาและคัดเลือกพันธุ์ , การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การนำพันธุ์พืชจากต่างประเทศเพื่อการเป็นไม้ตัดดอกชนิดใหม่ เช่น Feersia, Amaryllis, Daffodil
1.1.2 งานวิจัยผัก มีการนำเทคนิคการปลูกผักแบบใหม่มาทดสอบ เช่น การปลูกผักโดยการให้ปุ๋ยทางน้ำ (Fertigation) ผักไฮโดรโพนิค และงานวิจัยผักชนิดใหม่ เช่น อาร์ติโชค
1.1.3 งานวิจัยพืชไร่ ได้แก่ลินิน ซึ่งปลูกช่วงเดือนกันยายน และธันวาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงที่ลินินออกดอก จะมีสีม่วงสวยงามทั่วทุ่งลินิน
1.1.4 งานวิจัยสตรอเบอรี่ ได้แก่ การคัดเลือกสายพันธุ์ การกำจัดโรคแมลง
1.1.5 งานวิจัยปลาเรนโบว์เทราท์ ซึ่งดำเนินการโดยงานวิจัยประมงบนที่สูง ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดเชียงใหม่
1.2 งานวิจัยที่ดำเนินการในพื้นที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง
1.2.1 งานวิจัยไม้ผล ได้แก่ พีช, พลัม, สาลี่, บ๊วย, อโวคาโด, กีวีฟรุต, ราสเบอรี่ เนคทารีน และองุ่นไม่มีเมล็ด
1.2.2 งานวิจัยพืชไร่ ได้แก่ ลินิน , มันฝรั่ง
1.3 งานวิจัยหน่วยดอยผาตั้ง ได้แก่ ฝรั่งคั้นน้ำ และมะเดื่อฝรั่ง
1.4 งานวิจัยหน่วยแม่ยะน้อย ได้แก่ ลินิน

2. งานขยายพันธุ์พืช มีการจัดตั้งอาคารปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อขยายพันธุ์พืช และการปรับปรุงพันธุ์

3. งานด้านการผลิต
3.1 งานผลิตที่ดำเนินการในพื้นที่สถานีหลัก (อินทนนท์) ได้แก่ งานผลิตไม้ดอกไม้กระถาง เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และจำหน่วยผ่านฝ่ายตลาดของโครงการหลวง , งานผลิตไม้ผล , งานขยายพันธุ์และผลิตสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 70 , งานผลิตปุ๋ยหมัก , งานผลิตเฟินกระถางและเฟินใบ งานผลิตพืชผัก เช่น พริกหวาน , มะเขือเทศเชอรี่ , มิกซ์สลัด และงานผลิตปลาเรนโบว์เทราท์ โดยงานวิจัยประมงบนที่สูง
3.2 งานผลิตที่ดำเนินการในพื้นที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง ได้แก่ งานผลิตไม้ผล เช่น พีช , พลัม , บ๊วย และสาลี่ งานผลิตพืชไร่ เช่น ลินิน กาแฟอราบิก้า
3.3 หน่วยดอยผาตั้ง มีกิจกรรมการผลิตไม้ผล เช่น พีช , พลัม , หยางเหมย งานดอกไม้แห้งและดอกไม้ทับ
3.4 หน่วยแม่ยะน้อย มีกิจกรรมการผลิต ลินิน , ไม้ผล ได้แก่ พีช และกาแฟอราบิก้า

กิจกรรมต่าง ๆ
      ภายในสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังนี้
1. การท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศภายในสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ นอกเหนือไปจากงานด้านการวิจัยและการพัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์แล้ว สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็น พืชผัก ไม้ผลและไม้ดอกเมืองหนาว เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในระดับความสูง 1,380 เมตร จากระดับน้ำทะล ทำให้มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชในเขตหนาว
ซึ่งทางสถานีวิจัยดครงการหลวงอินทนนท์ได้นำเข้าพันธุ์พืชจากต่างประเทศมาเพื่อทำการวิจัย และทดลองปลูกเพื่อหาสายพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทย จากนั้นยังทำการปรับปรุงและพัฒนาหาสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเอง เพื่อลดการนำเข้าพันธุ์ไม้จากต่างประเทศที่มีราคาแพง ทำให้ลดการขาดดุลการค้าไปได้มาก นอกจากนี้ในแต่ละปียังมีนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์อยู่เสมอ ๆ
ภายในพื้นที่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ยังได้มีการจัดสวนหย่อมและสร้างศาลาพักผ่อน และตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ด้วยพันธุ์ไม้ดอกนานาชนิดไว้อย่างสวยงาม ผู้มาเยี่ยมชมนอกจากจะได้รับความรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงแล้ว ยังสามารถเลือกซื้อพืชผัก ไม้ดอก ผลไม้เมืองหนาวและไม้กระถางเป็นของฝากได้อีกด้วย
   2. เส้นทางเดินเท้า น้ำตกสิริภูมิ จากสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ สามารถใช้เส้นทางเดินเท้าระยะทาง 680 เมตร สู่ตัวน้ำตกสิริภูมิ ซึ่งตามประวัติเดิมน้ำตกสิริภูมิมีชื่อว่า "น้ำตกเลาลี" ตามชื่อของชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้น้ำตกนี้ ต่อมา ร.ม.ว.จักรทอง ทองใหญ่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชทางนามว่า "สิริภูมิ" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ บริเวณรอบ ๆ น้ำตกมีการจัดสวนหย่อมและตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ด้วยไม้ดอกไม้ประดับ และจัดสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ผู้มาเยี่ยมชมไว้อย่างสวยงาม เรียกว่า "สวนหลวงสิริภูมิ" ก่อนเดินทางกลับเข้าสู่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ บริเวณสองข้างทางยังสามารถชมแปลงไม้ดอกและผลไม้เมืองหนาวได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและของที่ระลึก สามารถเลือกซื้อได้จากภายในโครงการหลวง และตลาดบ้านม้ง ของราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าม้งบ้านขุนกลางได้อีกด้วย
3. การดูนก เนื่องจากพื้นที่บริเวณสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อนลดหลั่นกันตามลำดับขั้น จึงก่อให้เกิดสภาพป่าที่มีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งด้านพันธุ์พืช และสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกนานาชนิด ซึ่งมีทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพในช่วงฤดูหนาว จึงทำให้สถานที่ภายในบริเวณศูนย์พัฒนาฯ เหมาะสำหรับเป็นแหล่งดูและศึกษานกที่เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักดูนกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
นอกเหนือจากการส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตรกรรมแล้ว ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดตั้ง "สหกรณ์บริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านแม่กลางหลวง" ของชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง โดยมีการจัดกิจกรรม การศึกษาวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิต ตลอดจนภูมิปัญญาของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง อาทิ ยาสมุนไพรพื้นบ้าน กิจกรรมการดูนก ดูดาว การศึกษาระบบนิเวศวิทยา และการเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมของนักเรียนและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยภูเขาในพื้นที่ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

4. ร้านอาหารสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ มีบริการอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยมีอาหารอร่อย ๆ หลายรายการ อาทิ ปลาเรนโบว์เทร้าท์รมควัน ปลาเรนโบว์เทร้าท์แดดเดียว ปลาเรนโบว์เทร้าท์ 3 รส ปลาเรนโบว์เทร้าท์นึ่งมะนาว ผัดผักรวมอินทนนท์ (ตามฤดูกาล) ข้าวผัดดอยคำ สลัดผักอินทนนท์ เปิดทำการตั้งแต่เวลา 8.30 - 18.30 น.

ผลิตผลของเกษตรหลวง

ผักกาดหวาน (Cos lettuce / Romaine lettuce)
มีใบยาว เข้าปลีหลวม มีรสชาติหวานกรอบ จึงได้ชื่อว่าผักกาดหวาน นิยมรับประทานสดในรูปของสลัด หรือเป็นเครื่องเคียงของน้ำพริก ลาบ เนื้อย่างชนิดต่าง ๆ ให้ห่อเมี้ยงคำ หรือจะรับประทานสุกโดยผัดไฟแรงอย่างรวดเร็ว
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี และฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
กะหล่ำปลีรูปหัวใจ / กะหล่ำปลียอดดอย (Pointed cabbage)
ผลของกะหล่ำปลีรูปหัวใจ มีลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ ในหนาหวานกรอบ สามารถรับประทานสด หรือนำมาปรุงอาหารเช่นเดียวกับกะหล่ำปลี
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
คะน้ายอดดอยคำ (Doi Kham Chiness kale)
คะน้ายอดดอยคำเป็นพันธุ์พิเศษ ลำต้นมีลักษณะอวบ รสชาติหวานกรอบ นิยมรับประทานเฉพาะส่วนยอด สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด หรือรับประทานสดก็ดี ผักคะน้าโดยทั่วไปมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีนสูง และวิตามินซีสูงกว่าผักใบที่มีอยู่ทั้งหมด นับเป็นผักที่มีคุณค่ายิ่ง ช่วยบำรุงสายตา ผิวพรรณ ลดปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนให้ผลผลิตเกรดรอง ช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนให้ผลผลิตเกรดดี
ถั่วแขก (Snap bean)
ลักษณะเหมือนถั่วฝักยาว แต่ขนาดของฝักจะสั้นกว่า ให้รสชาติหวาน และกรอบ มีโปรตีนสูง อุดมด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินซี ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด อีกทั้งวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น นิยมนำมาลวกเป็นเครื่องเคียงในสเต็ก ผัดน้ำมันหอย หรือลวกจิ้มน้ำพริก ผสมในไข่ยัดไส้
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
ถั่วหวาน (Sugar snap pea)
เป็นถั่วลันเตาทานเมล็ดที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ สำหรับรับประทานฝักได้ มีเนื้อหนา รสหวานกรอบ มีคุณค่าเหมือนถั่วลันเตาทั่วไป หากฝักแก่สามารถนำเมล็ดมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ลวก และโรยบนสลัด ผัดผักรวม ใส่ไข่ยัดไส้ ข้าวผัด เป็นต้น
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี แต่ชาวงเดือนตุลาคม - เดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตดีที่สุด
พริกหวาน (Sweet pepper / Bell pepper)
พริกหวานมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมถึงหกเหลี่ยม เนื้อหนา มีหลายสีทั้งเขียว แดง เหลือง ส้ม และสีช็อคโกแล็ต มีรสชาติหวาน ไม่เผ็ด สามารถรับประทานสดในสลัด หรือนำมาผัดกับผักชนิดต่าง ๆ ให้สีสันน่ารับประทาน มีคุณค่าทางวิตามิน A , B1 , B2 และ C มีสารแคบไซซิน ช่วยยับยั้งอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือด โรคต้อกระจก และโรคมะเร็ง
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ และเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
มะเขือเทศเชอรี่ (Cherry tomato)
มะเขือเทศทานสด ผลมีขนาดเล็กพอดีคำ มีรสชาติออกเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย เนื้อแน่น น้ำน้อย มีกลิ่นหอมต่างจากมะเขือเทศทั่วไป อุดมด้วยคุณค่าวิตามิน A , B3 , B6 , Folic Acid , Inositol และ Sodium ช่วยบำรุงผิวพรรณ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และระบบการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
มะเขือเทศดอยคำ / มะเขือเทศผลโต (Table tomato)
เป็นมะเขือเทศรับประทานสด มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย เนื้อเนียนฉ่ำ รสชาติกลมกล่อม เป็นแหล่งของคาโรทีนอยด์ และโพแทสเซียม อุดมด้วยวิตามิน C และ E
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
เซเลอรี่ / เซเลอรี่ขาว (Celery)
เซเลอรี่มีลักษณะคล้ายกับต้นคื่นช่ายจีน มีกลิ่นหอมเหมือนกัน แต่ลำต้นใหญ่กว่า สามารถประกอบอาหารได้หลายชนิด อาทิ ทำซุป ผัดกับปลาคล้ายต้นคื่นช่าย หรือรับประทานสดในสลัด มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต คนเป็นโรคไตทานได้เพราะมีโซเดียมต่ำ
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
พาร์สเลย์ (Parsley)
พาร์สเลย์เป็นพืชสมุนไพรพื้นเมืองแถบเมดิเตอร์เรเนียน ใช้ส่วนใบมาเป็นอาหาร ทยอยเก็บใบมาใช้ ลักษณะใบหยิกเป็นฝอย มีกลิ่นหอม นิยมนำมาตกแต่งในจานอาหาร หรือชุบแป้งทอด นอกจากนี้พาร์สเลย์สดใช้เคี้ยวทำให้ลมหายใจสดชื่น และช่วยดับกลิ่นอาหารตกค้าง เช่นกระเที่ยใ นอกจากนี้ใบพาร์สเลย์ยังมีวิตามินซี และธาตุเหล็กในปริมาณพอสมควร
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
เฟนเนล (Fennel)
เฟนเนลเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใบคล้ายขนนก มีกลิ่นหอม ใช้รับประทานสด นำไปแช่ตู้เย็นช่องเย็นจัด แล้วรับประทานแกล้มสเต็ก หรือเนื้อย่างต่าง ๆ เพื่อดับกลิ่นคาว นอกจากนี้สามารถนำไปต้ม ตุ๋น หรือลวกเป็นเครื่องเคียง มีรสชาติหวาน นิยมนำมาตกแต่งโรยในอาหารเช่นเดียวกับผักชี เป็นผักที่ให้แคลเซียมสูง มีประโยชน์ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก และฟัน นอกจากนี้เมล็ดและใบยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น