วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โครงการหลวงดอยอินทนนท์



สถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์



            เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาคการเกษตรยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ตลอดจนป้องกันการบุกรุกป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการทำไร่เลื่อนลอย มาทำการเกษตรในพื้นที่ถาวร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 ได้จัดตั้งหน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งของสถานีหลักประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อดำเนินงาน ด้านการวิจัยและการผลิตไม้ผลเมืองหนาว ไม้ผลกึ่งเขตร้อน และพืชไร่ต่าง ๆ

ค่าธรรมเนียมการเข้าชม คนละ 20 บาท

วัตถุประสงค์ของสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์
1. เพื่อให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่งทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย
2. นำพืชเศรษฐกิจส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น
3. ถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ ๆ ให้แก่ชาวเขา เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ เพิ่มรายได้ต่อครอบครัว และลดการใช้พื้นที่ในการทำเกษตร
4. เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ความรู้แก่ชาวเขาในเรื่องการใช้ที่ดิน พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการทำการเกษตรก็ให้ฟื้นสภาพป่าคืนมา ส่วนพื้นที่ลาดชันพอที่จะทำการเกษตรได้ ก็ให้ปลูกไม้ยืนต้นและปลูกพืชแบบขั้นบันไดเพื่อลดการชะล้างหน้าดิน ส่วนพื้นที่ที่ไม่ลาดชัน ก็ให้ปลูกพืชผักหรือไม้ดอกหมุนเวียน
สถานที่ตั้ง

        สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ อยู่ในเขตหมู่บ้านขุนกลาง หมู่ 7 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงสถานีประมาณ 90 กิโลเมตร โดยถนนเชียงใหม่-ฮอด และแยกขึ้นดอยอินทนนท์ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 ชั่วโมง ความสูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,500 เมตร อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส

ลักษณะทางกายภาพ

          เป็นหุบเขา มีความลาดชันตั้งแต่ 10-60 เปอร์เซ็นต์ แนวเขาที่ทอดไปในแนวสันชัน แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองทิศทาง คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยจะผันน้ำแม่ปิงทางทิศตะวันออก และลงสู่แม่น้ำแม่แจ่มทางทิศตะวันตก จำนวนพื้นที่ของสถานีรวม 777 ไร่ แบ่งเป็นสถานีหลักมี 62 ไร่ หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง 489 ไร่ หน่วยแม่ยะน้อย 115 ไร่ และหน่วนดอยผาตั้ง 111 ไร่ มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบจำนวน 15 กลุ่มบ้าน ราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงและเผ่าม้ง

ลักษณะการดำเนินงาน
1. งานวิจัย
1.1 งานวิจัยที่ดำเนินการในพื้นที่สถานีหลัก (อินทนนท์)
1.1.1 งานวิจัยไม้ดอก ดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องการผสมพันธุ์หน้าวัว , เยอร์บีร่าเพื่อตัดดอก , การศึกษาและคัดเลือกพันธุ์ , การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การนำพันธุ์พืชจากต่างประเทศเพื่อการเป็นไม้ตัดดอกชนิดใหม่ เช่น Feersia, Amaryllis, Daffodil
1.1.2 งานวิจัยผัก มีการนำเทคนิคการปลูกผักแบบใหม่มาทดสอบ เช่น การปลูกผักโดยการให้ปุ๋ยทางน้ำ (Fertigation) ผักไฮโดรโพนิค และงานวิจัยผักชนิดใหม่ เช่น อาร์ติโชค
1.1.3 งานวิจัยพืชไร่ ได้แก่ลินิน ซึ่งปลูกช่วงเดือนกันยายน และธันวาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงที่ลินินออกดอก จะมีสีม่วงสวยงามทั่วทุ่งลินิน
1.1.4 งานวิจัยสตรอเบอรี่ ได้แก่ การคัดเลือกสายพันธุ์ การกำจัดโรคแมลง
1.1.5 งานวิจัยปลาเรนโบว์เทราท์ ซึ่งดำเนินการโดยงานวิจัยประมงบนที่สูง ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดเชียงใหม่
1.2 งานวิจัยที่ดำเนินการในพื้นที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง
1.2.1 งานวิจัยไม้ผล ได้แก่ พีช, พลัม, สาลี่, บ๊วย, อโวคาโด, กีวีฟรุต, ราสเบอรี่ เนคทารีน และองุ่นไม่มีเมล็ด
1.2.2 งานวิจัยพืชไร่ ได้แก่ ลินิน , มันฝรั่ง
1.3 งานวิจัยหน่วยดอยผาตั้ง ได้แก่ ฝรั่งคั้นน้ำ และมะเดื่อฝรั่ง
1.4 งานวิจัยหน่วยแม่ยะน้อย ได้แก่ ลินิน

2. งานขยายพันธุ์พืช มีการจัดตั้งอาคารปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อขยายพันธุ์พืช และการปรับปรุงพันธุ์

3. งานด้านการผลิต
3.1 งานผลิตที่ดำเนินการในพื้นที่สถานีหลัก (อินทนนท์) ได้แก่ งานผลิตไม้ดอกไม้กระถาง เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และจำหน่วยผ่านฝ่ายตลาดของโครงการหลวง , งานผลิตไม้ผล , งานขยายพันธุ์และผลิตสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 70 , งานผลิตปุ๋ยหมัก , งานผลิตเฟินกระถางและเฟินใบ งานผลิตพืชผัก เช่น พริกหวาน , มะเขือเทศเชอรี่ , มิกซ์สลัด และงานผลิตปลาเรนโบว์เทราท์ โดยงานวิจัยประมงบนที่สูง
3.2 งานผลิตที่ดำเนินการในพื้นที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง ได้แก่ งานผลิตไม้ผล เช่น พีช , พลัม , บ๊วย และสาลี่ งานผลิตพืชไร่ เช่น ลินิน กาแฟอราบิก้า
3.3 หน่วยดอยผาตั้ง มีกิจกรรมการผลิตไม้ผล เช่น พีช , พลัม , หยางเหมย งานดอกไม้แห้งและดอกไม้ทับ
3.4 หน่วยแม่ยะน้อย มีกิจกรรมการผลิต ลินิน , ไม้ผล ได้แก่ พีช และกาแฟอราบิก้า

กิจกรรมต่าง ๆ
      ภายในสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังนี้
1. การท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศภายในสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ นอกเหนือไปจากงานด้านการวิจัยและการพัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์แล้ว สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็น พืชผัก ไม้ผลและไม้ดอกเมืองหนาว เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในระดับความสูง 1,380 เมตร จากระดับน้ำทะล ทำให้มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชในเขตหนาว
ซึ่งทางสถานีวิจัยดครงการหลวงอินทนนท์ได้นำเข้าพันธุ์พืชจากต่างประเทศมาเพื่อทำการวิจัย และทดลองปลูกเพื่อหาสายพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทย จากนั้นยังทำการปรับปรุงและพัฒนาหาสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเอง เพื่อลดการนำเข้าพันธุ์ไม้จากต่างประเทศที่มีราคาแพง ทำให้ลดการขาดดุลการค้าไปได้มาก นอกจากนี้ในแต่ละปียังมีนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์อยู่เสมอ ๆ
ภายในพื้นที่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ยังได้มีการจัดสวนหย่อมและสร้างศาลาพักผ่อน และตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ด้วยพันธุ์ไม้ดอกนานาชนิดไว้อย่างสวยงาม ผู้มาเยี่ยมชมนอกจากจะได้รับความรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงแล้ว ยังสามารถเลือกซื้อพืชผัก ไม้ดอก ผลไม้เมืองหนาวและไม้กระถางเป็นของฝากได้อีกด้วย
   2. เส้นทางเดินเท้า น้ำตกสิริภูมิ จากสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ สามารถใช้เส้นทางเดินเท้าระยะทาง 680 เมตร สู่ตัวน้ำตกสิริภูมิ ซึ่งตามประวัติเดิมน้ำตกสิริภูมิมีชื่อว่า "น้ำตกเลาลี" ตามชื่อของชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้น้ำตกนี้ ต่อมา ร.ม.ว.จักรทอง ทองใหญ่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชทางนามว่า "สิริภูมิ" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ บริเวณรอบ ๆ น้ำตกมีการจัดสวนหย่อมและตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ด้วยไม้ดอกไม้ประดับ และจัดสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ผู้มาเยี่ยมชมไว้อย่างสวยงาม เรียกว่า "สวนหลวงสิริภูมิ" ก่อนเดินทางกลับเข้าสู่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ บริเวณสองข้างทางยังสามารถชมแปลงไม้ดอกและผลไม้เมืองหนาวได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและของที่ระลึก สามารถเลือกซื้อได้จากภายในโครงการหลวง และตลาดบ้านม้ง ของราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าม้งบ้านขุนกลางได้อีกด้วย
3. การดูนก เนื่องจากพื้นที่บริเวณสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อนลดหลั่นกันตามลำดับขั้น จึงก่อให้เกิดสภาพป่าที่มีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งด้านพันธุ์พืช และสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกนานาชนิด ซึ่งมีทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพในช่วงฤดูหนาว จึงทำให้สถานที่ภายในบริเวณศูนย์พัฒนาฯ เหมาะสำหรับเป็นแหล่งดูและศึกษานกที่เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักดูนกทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
นอกเหนือจากการส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตรกรรมแล้ว ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดตั้ง "สหกรณ์บริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านแม่กลางหลวง" ของชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง โดยมีการจัดกิจกรรม การศึกษาวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิต ตลอดจนภูมิปัญญาของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง อาทิ ยาสมุนไพรพื้นบ้าน กิจกรรมการดูนก ดูดาว การศึกษาระบบนิเวศวิทยา และการเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมของนักเรียนและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยภูเขาในพื้นที่ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

4. ร้านอาหารสถานีวิจัยเกษตรหลวงอินทนนท์ มีบริการอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยมีอาหารอร่อย ๆ หลายรายการ อาทิ ปลาเรนโบว์เทร้าท์รมควัน ปลาเรนโบว์เทร้าท์แดดเดียว ปลาเรนโบว์เทร้าท์ 3 รส ปลาเรนโบว์เทร้าท์นึ่งมะนาว ผัดผักรวมอินทนนท์ (ตามฤดูกาล) ข้าวผัดดอยคำ สลัดผักอินทนนท์ เปิดทำการตั้งแต่เวลา 8.30 - 18.30 น.

ผลิตผลของเกษตรหลวง

ผักกาดหวาน (Cos lettuce / Romaine lettuce)
มีใบยาว เข้าปลีหลวม มีรสชาติหวานกรอบ จึงได้ชื่อว่าผักกาดหวาน นิยมรับประทานสดในรูปของสลัด หรือเป็นเครื่องเคียงของน้ำพริก ลาบ เนื้อย่างชนิดต่าง ๆ ให้ห่อเมี้ยงคำ หรือจะรับประทานสุกโดยผัดไฟแรงอย่างรวดเร็ว
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี และฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
กะหล่ำปลีรูปหัวใจ / กะหล่ำปลียอดดอย (Pointed cabbage)
ผลของกะหล่ำปลีรูปหัวใจ มีลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ ในหนาหวานกรอบ สามารถรับประทานสด หรือนำมาปรุงอาหารเช่นเดียวกับกะหล่ำปลี
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
คะน้ายอดดอยคำ (Doi Kham Chiness kale)
คะน้ายอดดอยคำเป็นพันธุ์พิเศษ ลำต้นมีลักษณะอวบ รสชาติหวานกรอบ นิยมรับประทานเฉพาะส่วนยอด สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด หรือรับประทานสดก็ดี ผักคะน้าโดยทั่วไปมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีนสูง และวิตามินซีสูงกว่าผักใบที่มีอยู่ทั้งหมด นับเป็นผักที่มีคุณค่ายิ่ง ช่วยบำรุงสายตา ผิวพรรณ ลดปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนให้ผลผลิตเกรดรอง ช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนให้ผลผลิตเกรดดี
ถั่วแขก (Snap bean)
ลักษณะเหมือนถั่วฝักยาว แต่ขนาดของฝักจะสั้นกว่า ให้รสชาติหวาน และกรอบ มีโปรตีนสูง อุดมด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินซี ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด อีกทั้งวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น นิยมนำมาลวกเป็นเครื่องเคียงในสเต็ก ผัดน้ำมันหอย หรือลวกจิ้มน้ำพริก ผสมในไข่ยัดไส้
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
ถั่วหวาน (Sugar snap pea)
เป็นถั่วลันเตาทานเมล็ดที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ สำหรับรับประทานฝักได้ มีเนื้อหนา รสหวานกรอบ มีคุณค่าเหมือนถั่วลันเตาทั่วไป หากฝักแก่สามารถนำเมล็ดมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ลวก และโรยบนสลัด ผัดผักรวม ใส่ไข่ยัดไส้ ข้าวผัด เป็นต้น
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี แต่ชาวงเดือนตุลาคม - เดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตดีที่สุด
พริกหวาน (Sweet pepper / Bell pepper)
พริกหวานมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมถึงหกเหลี่ยม เนื้อหนา มีหลายสีทั้งเขียว แดง เหลือง ส้ม และสีช็อคโกแล็ต มีรสชาติหวาน ไม่เผ็ด สามารถรับประทานสดในสลัด หรือนำมาผัดกับผักชนิดต่าง ๆ ให้สีสันน่ารับประทาน มีคุณค่าทางวิตามิน A , B1 , B2 และ C มีสารแคบไซซิน ช่วยยับยั้งอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือด โรคต้อกระจก และโรคมะเร็ง
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ และเกรดรอง ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
มะเขือเทศเชอรี่ (Cherry tomato)
มะเขือเทศทานสด ผลมีขนาดเล็กพอดีคำ มีรสชาติออกเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย เนื้อแน่น น้ำน้อย มีกลิ่นหอมต่างจากมะเขือเทศทั่วไป อุดมด้วยคุณค่าวิตามิน A , B3 , B6 , Folic Acid , Inositol และ Sodium ช่วยบำรุงผิวพรรณ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และระบบการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
มะเขือเทศดอยคำ / มะเขือเทศผลโต (Table tomato)
เป็นมะเขือเทศรับประทานสด มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย เนื้อเนียนฉ่ำ รสชาติกลมกล่อม เป็นแหล่งของคาโรทีนอยด์ และโพแทสเซียม อุดมด้วยวิตามิน C และ E
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
เซเลอรี่ / เซเลอรี่ขาว (Celery)
เซเลอรี่มีลักษณะคล้ายกับต้นคื่นช่ายจีน มีกลิ่นหอมเหมือนกัน แต่ลำต้นใหญ่กว่า สามารถประกอบอาหารได้หลายชนิด อาทิ ทำซุป ผัดกับปลาคล้ายต้นคื่นช่าย หรือรับประทานสดในสลัด มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต คนเป็นโรคไตทานได้เพราะมีโซเดียมต่ำ
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
พาร์สเลย์ (Parsley)
พาร์สเลย์เป็นพืชสมุนไพรพื้นเมืองแถบเมดิเตอร์เรเนียน ใช้ส่วนใบมาเป็นอาหาร ทยอยเก็บใบมาใช้ ลักษณะใบหยิกเป็นฝอย มีกลิ่นหอม นิยมนำมาตกแต่งในจานอาหาร หรือชุบแป้งทอด นอกจากนี้พาร์สเลย์สดใช้เคี้ยวทำให้ลมหายใจสดชื่น และช่วยดับกลิ่นอาหารตกค้าง เช่นกระเที่ยใ นอกจากนี้ใบพาร์สเลย์ยังมีวิตามินซี และธาตุเหล็กในปริมาณพอสมควร
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี
เฟนเนล (Fennel)
เฟนเนลเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใบคล้ายขนนก มีกลิ่นหอม ใช้รับประทานสด นำไปแช่ตู้เย็นช่องเย็นจัด แล้วรับประทานแกล้มสเต็ก หรือเนื้อย่างต่าง ๆ เพื่อดับกลิ่นคาว นอกจากนี้สามารถนำไปต้ม ตุ๋น หรือลวกเป็นเครื่องเคียง มีรสชาติหวาน นิยมนำมาตกแต่งโรยในอาหารเช่นเดียวกับผักชี เป็นผักที่ให้แคลเซียมสูง มีประโยชน์ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก และฟัน นอกจากนี้เมล็ดและใบยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม
ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด ตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นช่วงนอกฤดู ผลผลิตเกรดต่ำ ขณะที่ช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงในฤดู ผลผลิตเกรดดี

การเดินทางและสิ่งอำนวยความสะดวก


การเดินทาง 
         อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรู้จักในนามของอุทยานฯ ที่มียอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย อยู่ในเขตอำเภอจอมทอง สันป่าตอง และแม่แจ่ม มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 530 ตารางกิโลเมตร ระยะทางจากเชียงใหม่ถึงดอยอินทนนท์ ประมาณ 106 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1.5 หรือ 2 ชั่วโมง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ สามารถ เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้ 3 เส้นทาง คือ

         เส้นทางที่ 1 จากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางโดยใช้เส้นทางถนนสายเชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอ หางดงและอำเภอสันป่าตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามถนนสายจอมทอง- อินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และ ตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กม. ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 1 (สีเหลือง)



           เส้นทางที่ 2 จากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางตามเส้นทางถนนสานเชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทองและอำเภอฮอด จากอำเภอฮอดเดินทางต่อโดยใช้เส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง ฮอด (ทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอุทยานแห่งชาติออบหลวง แล้วเลี้ยวขวาต่อไปยังอำเภอแม่แจ่มโดยเส้นทางสาย ออบหลวง-แม่แจ่ม (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1088) จากอำเภอแม่แจ่มใช้เส้นทางสายแม่แจ่ม-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1192) ขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ที่ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 กิโลเมตรที่ 38-39) ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 2 (สีเขียว)


             เส้นทางที่ 3 ซึ่งเป็นเส้นทางสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่ค่อนข้างจะลำบาก โดยทางจากจังหวัดเชียงใหม่ตามเส้นทางถนนสาย เชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง จากอำเภอสันป่าตอง เลี้ยวขวา ตามถนน สายสันป่าตอง - บ้านกาด-แม่วิน (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1013) แล้วต่อด้วยเส้นทาง ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1284 หรือ เส้นทาง ร.พ.ช. ผ่านบ้านขุนวาง และขึ้นสู่ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) ที่กิโลเมตรที่ 31 ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 3 (สีน้ำเงิน)




ตารางระยะทาง
           ในส่วนของทางขึ้นดอยชันมาก และคดเคี้ยว ถ้ารถอยู่ในสภาพไม่ดีหรือไม่ชำนาญพอ ควรนั่งหรือเช่ารถจากบริเวณหน้าวัดน้ำตกแม่กลางหรือบริเวณวัดพระธาตุศรีจอมทองจะสะดวกกว่า รถสองแถวที่เหมานั้นจะพาเที่ยว 4 จุด คือ ยอดดอยอินทนนท์ พระมหาธาตุ ตลาดม้งบ้านขุนกลาง และน้ำตกวชิรธาร ในอัตราค่าเหมารถคันละ 1,200 บาท หรือคิดต่อคนคนละ 100 บาท หากเป็นรถตุ้เหมาคันละ 1,400 บาท หรือคนละ 120 รถคันหนึ่งนั่งได้ไม่เกิน 12 คน เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ไม่คิดค่ารถ ค่าเหมารถนี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมของอุทยานฯ อีกคนละ 20 บาท หากนักท่องเที่ยวต้องการจะพักค้างคืนที่ อุทยานฯ รถจะพาคุณไปจุดท่องเที่ยวทั้ง 4 ก่อน แล้วพาคุณมาพักค้างคืนที่อุทยานฯ รุ่งเช้ารถจะมารับเพื่อพาคุณมาส่งที่หน้าวัดน้ำตกแม่กลาง หรือหน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบกับการผจญภัย นั่งรถไฟมาที่สถานีรถไฟ หรือรถบขส.มาลงที่สถานีขนส่งอาเขต ให้ต่อรถสองแถวสีแดงหรือรถตุ๊กตุ๊ก มาลงที่ประตูเชียงใหม่ คนขับรถอาจเรียกค่าบริการแพง พยายามนั่งรถที่มีคำว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ มช. แล้วตกลงค่ารถก่อน บอกคนขับว่า ไปประตูเชียงใหม่คิดเท่าไหร่ ถ้าราคาแพงกว่า 20 บาท ก็ขอให้เรียกคันใหม่แทน แล้วไปต่อรถสองแถวคันสีเหลืองที่มีป้ายเขียนว่า เชียงใหม่ ? จอมทอง ค่ารถ 20 บาท / คน หรือจะเหมารถจากที่นี่ไปอินทนนท์ก็ได้ ราคาไม่ควรเกิน 1,800 บาท / คัน (หากเป็นช่วงปีใหม่ราคาค่ารถจะปรับตัวสูงขึ้น) รถเหลืองนี้จะจอดแวะรับผู้โดยสารตลอดเส้นทาง ใช้เวลาถึงหน้าวัดพระธาตุศรีจอมทอง ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง 

ฝั่งด้านหลังของประดูเชียงใหม่ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร จะเป็นท่ารถเมล์เล็กสีฟ้าที่มีป้ายเขียนว่า เชียงใหม่ ฮอด  ดอยเต่า รถคันนี้จะผ่านหน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองเช่นกัน คิดค่ารถ 23 บาท / คน ใช้เวลาประมาณ 80 นาที รถมีตั้งแต่เวลา 05.00 น.- 18.00 น. รถออกห่างกันคันละประมาณ 15 หรือ 20 นาที
เมื่อถึงหน้าวัดพระธาตุศรีจอมทอง ให้ต่อรถจอมทอง ? อินทนนท์ ไปลงที่ทำการอุทยานฯ ค่ารถคนละประมาณ 30 บาท
ดังนั้น หากคุณนั่งรถมากันเองเพื่อมาพักที่บ้านพักของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จะเสียเงินค่ารถจากประตูเชียงใหม่ถึงที่ทำการอุทยานฯ ประมาณไม่เกิน 100 บาท/คน ถ้าหากมาในช่วงเทศกาล หรือฤดูกาลท่องเที่ยว ค่ารถอาจมีการปรับตัวขึ้นอีกเล็กน้อย 

ส่วนรถบัสขนาดใหญ่ ไม่สามารถขับขึ้นไปบนยอดดอยได้ สามารถจอดรถได้ที่วัดน้ำตกแม่กลาง ซึ่งตั้งอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงด่านที่หนึ่งประมาณ 50 เมตร ในช่วงเทศกาลคิดอัตราค่าจอดคันละ 50 บาท
สำหรับผู้ที่ต้องการใช้บริการรถสองแถว (คันสีเหลืองและสีแดง) ก็สามารถใช้บริการได้ที่หน้าวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร ในตัวอำเภอจอมทอง หรือที่หน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมที่ 1 ก็ได้



สิ่งอำนวยความสะดวก
                                
        อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและ บ้านพัก  สถานที่กางเต็นท์



ลักษณะภูมิประะเทศ


ลักษณะภูมิประเทศ
         
          สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของแนวเขตเทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ทอดตัวมาจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 400-2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ยอด ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นจุดที่สูงสุดในประเทศไทย ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมา คือ ยอดดอยหัวหมดหลวง สูง 2,330 เมตร ยอดดอยหัวหมดน้อย สูง 1,900 เมตร ยอดดอยหัวเสือ สูง1,881 เมตรจากระดับน้ำทะเล
        ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยทั่วไป ประกอบด้วยหินที่มีอายุตั้งแต่ยุคแคมเบรียนขึ้นไป และหินส่วนใหญ่จะเป็นหินไนส์และหินแกรนิต ส่วนหินชนิดอื่นๆ ที่พบจะเป็นหินยุคออร์โดวิเชียนซึ่งได้แก่หินปูน จนถึงยุคเทอร์เซียรี่ได้แก่หินกรวดมน
          อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง ให้กำเนิดแม่น้ำลำธารหลายสาย ที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำแม่วาง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่ยะ ลำน้ำแม่หอย ลำน้ำแม่แจ่ม และลำน้ำแม่เตี๊ยะ ซึ่งลำน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านและหล่อเลี้ยงชุมชนต่างๆ ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด อำเภอแม่วาง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง

ลักษณะภูมิอากาศ
       
 สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนจะนำเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สลับกันไป แต่เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ มีความหลากหลายทางด้านระดับความสูง ทำให้ลักษณะอากาศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยจะมีลักษณะของสภาพอากาศแบบเขตร้อนในตอนล่างของพื้นที่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลต่ำกว่า 1,000 เมตรลงมา มีสภาพอากาศแบบกึ่งเขตร้อนในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลระหว่าง 1,000-2,000 เมตร และมีสภาพอากาศแบบเขตอบอุ่นในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตรขึ้นไป
      ในพื้นที่สูงตอนบนของอุทยานแห่งชาติ โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพที่ชุ่มชื้นและหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณยอด ดอยอินทนนท์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสันเขาและยอดเขา จะมีกระแสลมที่พัดแรงและมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นมาก และในช่วงวันที่หนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิจะลดต่ำลงถึง 0-4 องศาเซลเซียส และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้น ที่ระดับกลางของ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สภาพอากาศโดยทั่วไปจะมีลักษณะค่อนข้างเย็นและชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาวในเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 15-17 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000-2,100 มิลลิเมตร/ต่อปี สำหรับในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,800 เมตรขึ้นไป จะมีสภาพอากาศที่เย็นและชุ่มฉ่ำอยู่ ทั้งนี้เพราะจะเป็นระดับความสูงของเมฆหมอก ทำให้สภาพป่ามีเมฆและหมอกปกคลุมเกือบตลอด

พืชพรรณและสัตว์ป่า
    
      สังคมพืชในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สามารถจำแนกออกเป็น

   ป่าเต็งรัง
  พบกระจายทั่วๆไปในพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในระดับความสูงจากน้ำทะเล 400-750 เมตร ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้ง หรือตามด้านลาดทิศตะวันตกและทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เต็ง รัง เหียง พลวง ก่อแพะ รกฟ้า รักใหญ่ ยอป่า มะขามป้อม ฯลฯ พืชอิงอาศัยพวกเอื้องแซะ เอื้องมะขาม เอื้องแปรงสีฟัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพวกมอส ไลเคน นมตำเลีย เกล็ดนาคราช ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างจะเป็นไม้พุ่ม หญ้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้าคา ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ

     ป่าเบญจพรรณ  พบกระจายอยู่ทั่วพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติในชั้นระดับความสูง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามที่ลุ่มหรือตามแนวสองฝั่งของลำห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก ตะแบก ประดู่ แดง มะเกิ้ม สมอไทย กาสามปีก สลีนก กระบก ซ้อ นอกจากนี้ยังมีไผ่ชนิดต่างๆ พืชอิงอาศัย เช่น เอื้องช้างกระ เอื้องขี้หมา ส่วนพืชพื้นล่างส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้พุ่ม หญ้าคา หญ้าแฝก หญ้าชนิดอื่นๆ ไม้เถา และพืชล้มลุกชนิดต่างๆ

    ป่าดิบแล้ง  พบกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยในระดับความสูง 400-1,000 เมตร ตามบริเวณหุบเขา ริมลำห้วย และสบห้วยต่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางปาย ยางแดง ยางนา ตะเคียนทอง ก่อเดือย ก่อหยุม ก่อลิ้ม ประดู่ส้ม มะไฟป่า ชมพู่น้ำ ไทรย้อย เดื่อหูกวาง พืชพื้นล่างเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่มีความชื้นสูง เช่น กล้วยป่า หญ้าสองปล้อง เหมือดปลาซิว ตองสาด กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย ออสมันด้า กูด เฟิน ปาล์ม หวายไส้ไก่ หมากป่า และเขือง เป็นต้น

   ป่าดิบเขาตอนล่าง  เป็นป่าที่พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000-1,800 เมตร หรือในบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกทำลายจากชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีป่าที่มีอยู่เป็นป่าที่กำลังฟื้นสภาพ หรือป่ารุ่นใหม่ จะมีป่าดิบเขาดั่งเดิมเหลืออยู่บ้างเพียงเล็กน้อย สภาพโดยทั่วไปของป่าดิบเขาในพื้นที่ ดอยอิทนนท์ จึงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับระบบและวิธีการฟื้นฟูของสังคมพืช ชนิดป่าที่พบที่สำคัญได้แก่ ป่าสนล้วน ป่าก่อผสมสน ป่าก่อ และป่าดิบเขาดั่งเดิม พันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ สนสามใบ สารภีดอย เหมือดคนตัวผู้ ก่อแป้น ก่อใบเลื่อม กอเตี้ย ก่อแดง ก่อตาหมูหลวง ก่อนก ทะโล้ จำปีป่า กำลังเสือโคร่ง กล้วยฤาษี นมวัวดอย ฯลฯ

   ป่าดิบเขาตอนบน  ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,800 เมตรขึ้นไป สามารถแบ่งออกได้เป็น ป่าดงดิบ-ป่าก่อชื้น ป่าดงดิบ เขตอบอุ่น และป่าพรุเขตอบอุ่น สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ และหลายแห่งจะมีลักษณะของป่าดึกดำบรรพ์ พืชพื้นล่างจะไม่แน่นทึบ ทำให้ตามกิ่ง ยอด และลำต้นของไม้ในป่าจะมีมอส กล้วยไม้ เฟิน กุหลาบพันปี สำเภาแดง ขึ้นปกคลุม พันธุ์ไม้ในป่าดิบเขาหรือป่าก่อชื้นได้แก่ ก่อดาน ก่อแอบ จำปีหลวง แกง นางพญาเสือโคร่ง กะทัง นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มและไม้เกาะเกี่ยว เช่น คำขาว กุหลาบขาว คำแดง และยังมีต้นโพสามหาง กระโถนฤาษี เป็นต้น ในบริเวณแอ่งน้ำ และรอบๆ ป่าพรุจะมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ เช่น บัวทอง พญาดง เทียน ผักหนอกดอย มะ แหลบ วาสุกรี บันดงเหลือง ต่างไก่ป่า กุง กูดขน ฯลฯ และบริเวณชายขอบป่าพรุจะมีกุหลาบพันปีสีแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเฉพาะบนยอด ดอยอินทนนท์ เท่านั้น

   สัตว์ป่า ในบริเวณอุทยานแห่งชาติที่นี้มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกถางลงมาก ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแตธรรมดา กระเล็นขนปลายหูสั้น อ้นเล็ก เม่นหางพวง อีเห็นข้างลาย ชะมดแผงสันหางดำ นกแซงแซวเล็กเหลือบ นกปรอดหัวสีเขม่า นกเด้าดินทุ่ง เหยี่ยว เพเรกริน ไก่ฟ้าหลังขาว นกเงือกคอแดง นกพญาไฟสีกุหลาบ กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนเรียวจุดดำ ตุ๊กแกบ้าน งูลายสอคอแดง กบห้วยสีข้างดำ เขียดหนอง อึ่งกราย คางคกเล็ก ปาดแคระ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ ยังคงความสำคัญในด้านของการเป็นแหล่งของนกป่าที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นแหล่งของสัตว์ป่าที่หายาก และมีอยู่เฉพาะถิ่นอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ หนูหญ้าดอย กระท่าง เต่าปูลู นกศิวะหางสีน้ำตาล นกปีกสั้นสีนำเงิน นกกระจิ๊ดคอสีเทา และนกกินปลีหางยาว      ปัจจุบันราชการทหารได้ตัดถนนขึ้นสู่ยอด ดอยอินทนนท์ ทำให้เดินทางไปโดยรถยนต์ได้สะดวก สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริงก็อาจเลือกวิธีเดินเท้า ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมก่อนที่จะมีทางรถยนต์ ทางเดินที่นิยมมักเริ่มต้นจากน้ำตกแม่กลาง คืนแรกพักที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงหรือกลางป่า คืนที่สองพักที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงผาหม่อน คืนที่สามพักที่ปางสมเด็จ แล้วขึ้นสู่ยอด ดอยอินทนนท์ ในระหว่างทางจะได้รับความเพลิดเพลินกับบรรยากาศป่าเขา และได้ศึกษาความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงไปด้วย

      จุดเด่นของอุทยานแห่งชาตินี้ คือ ยอด ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของประเทศ ซึ่งคนไทยส่วนมากต้องการไปสัมผัสเพื่อประวัติของชีวิต อากาศบนยอดดอยหนาวเย็นประดุจดังอยู่ในเมืองหนาว ยามฤดูหนาวจัด มีเมฆหมอกครึ้ม บรรยากาศดังกล่าวไม่อาจหาได้ในส่วนอื่นของประเทศ ต้นไม้ในบริเวณยอดดอยแปลกไปกว่าที่อื่น เพราะมีสภาพป่าประดุจดังป่าโลกล้านปี ตามต้นไม้มีตะไคร่และมอสจับเขียวครึ้ม พันธุ์ไม้ดอก เช่น กุหลาบป่า คล้ายกับที่ภูกระดึง แต่สูงใหญ่กว่ามากจนเรียกกันว่า “ กุหลาบพันปี ” นอกจากนี้ยังมี ลานข้าวตอกฤาษี ซึ่งเป็นมอสชนิดหนึ่งขึ้นอยู่หนาแน่นมีสีเขียวสลับส้มกับสีน้ำตาลอ่อน ๆ มอสชนิดนี้จะขึ้นได้เฉพาะที่สูง ความชื้นมากและอากาศหนาวเย็นเท่านั้น


   กุหลาบพันปี "




วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ




สถานที่ท่องเที่ยว

       น้ำตก
       น้ำตกแม่ยะ


         
          เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ด้วยความสูงกว่า 260 เมตร สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล สายน้ำตกกระทบหน้าผาหินกว่า 30 ชั้น บางช่วงของหน้าผา เป็นชะง่อนหินให้นักท่องเที่ยวเข้าไปหลบละอองไอน้ำที่ตกกระทบมองดูเหมือนม่านหมอกสีขาวสะอาดตา สัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง
การเข้าไปเที่ยวเล่นน้ำตกแม่ยะ นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ที่ด่านเก็บค่าธรรมเนียม และต้องเดินเท้าเข้าอีกประมาณ 500 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถกางเต้นท์พักแรมที่น้ำตกแม่ยะได้ แต่ต้องติดต่อขอสถานที่กางเต้นท์กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ด้วย
        
      น้ำตกแม่กลาง

          น้ำตกแม่กลางเป็นจุดแรกของประตูเข้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สายน้ำอันเย็นฉ่ำที่ตกผ่านหน้าผาขนาดใหญ่ น้ำตกจากหน้าผาสูงประมาณ 100 เมตร ไหลพวยพุ่งมาสู่โกรกเขา ซึ่งเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีชื่อว่า วังน้อยและวังหลวง ในช่วงฤดูฝนน้ำไหลแรงและขุ่นข้นมาก น้ำในแอ่งลึกมาก หากถูกกระแสน้ำปะทะก็อาจจะตกลงไปในแอ่งน้ำ ซึ่งมีน้ำไหลเชี่ยวกราก นักท่องเที่ยวควรระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของตนเอง





        น้ำตกวชิรธาร
         น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ ตาดฆ้องโยง ภายหลัง ได้เปลี่ยนชื่อตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ตรงข้ามมีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า ผาม่อนแก้ว หรือในภายหลังเรียกว่า ผาแว่นแก้ว


     น้ำตกสิริภูมิ




        
          น้ำตกสิริภูมิ เป็นน้ำตกคู่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันเป็นทางยาวสวยงามมาก เดิมเรียกว่า เลาลึตามชื่อของหมู่บ้านม้ง ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ ๆ น้ำตก ภายหลังเปลี่ยนชื่อตามพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ปัจจุบัน น้ำตกสิริภูมิ มีการจัดภูมิทัศน์ สวนหลวงสิริภูมิ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ มีการจัดเก็บค่าเข้าชม ผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เด็ก คนละ 10 บาท

     น้ำตกทรายเหลือง
         
         น้ำตกทรายเหลือง เป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้ที่พักแรมมากที่สุด อดีตกาลเม็ดทรายสีเหลืองไหลมากับสายน้ำยามฝน ดุจดั่งเม็ดทองคำอันเลอล้ำค่า 

       ถ้ำ 
         
     ถ้ำบริจินดา


         

          เป็นถ้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเทือกเขาดอยอ่างกาหรือดอยอินทนนท์ ใกล้น้ำตกแม่กลาง ภายในถ้ำมีความลึกหลายกิโลเมตร เพดานมีหินงอกหินย้อยหรือที่ชาวเหนือเรียกว่า นมผา และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นมัสการ นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุแสงสว่างลอดเข้ามาได้ สามารถมองเห็นภายในได้ถนัด ก่อนจะถึงปากถ้ำจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่

 ยอดดอยอินทนนท์


          
          บนยอดดอยอินทนนท์ มีผืนป่าดิบดึกดำบรรพ์อันกว้างใหญ่สมบูรณ์ปกคลุม ซึ่งน้อยคนนักจะได้สัมผัสธรรมชาติที่แท้จริงของภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ในอดีตมีเพียงเส้นทางเล็ก ๆ ตัดขึ้นไปสู่ป่าลึกอันชุ่มชื้นและหนาวเย็น จึงจะได้พบเห็นกล้วยไม้และพันธุ์ไม้ป่าที่สวยงามและหายากยิ่ง นับแต่รองเท้านารีอินทนนท์ที่ค้นพบเป็นแห่งแรกบนดอยนี้ เอื้องกำเบ้อ ซึ่งเป็นกล้วยไม้จำพวกซิมบิเดียม มีสีเหลืองทอง ยังมีกุหลาบพันปีที่มีลำต้นสูงใหญ่กว่ากุหลาบแดงบนภูหลวงและภูกระดึงมากมายนัก อีกทั้งดอกไม้ป่าอีกหลายชนิดที่ขึ้นดารดาษทั่วหุบเขา สลับกับพันธุ์ไม้จำพวกเฟิร์น ออสมันดา และอื่น ๆ
เทือกเขาสูงมิได้มีเพียงยอดสูงสุด คือ ดอยอ่างกาหลวงเท่านั้น ทว่าเทือกเขาดอยอินทนนท์นั้นคือแนวทิวเขาสลับซับซ้อนตอนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยอันพาดผ่านชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือลงไป มียอดดอยอินทนนท์ เป็นยอดสูงสุด สูงถึง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ประดิษฐานกู่พระอัฐิของพระเจ้าอินทวิชานนท์ ผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 7 และเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทย ไม่ว่าฤดูกาลใด อากาศเย็นตลอดปี







ประวัติและความเป็นมาของดอยอินทนนท์




ประวัติและความเป็นมาดอยอินทนนท์



         ดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อพ.ศ.2515 ประกาศเป็นอุทยานฯ เป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 482.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์แต่เดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา"ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่)
         ดอยอินทนนท์ อดีตกาลก่อนป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) พระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง ทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ดอยนี้จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์" แต่มีข้อมูล บางกระแสกล่าวว่า ที่ดอยหลวงเรียกว่า ดอยอินทนนท์ นั้น เป็นเพราะเนื่องจากว่าเป็นการให้เกียรติ เจ้าผู้ครองนคร จึงตั้งชื่อจากคำว่า "ดอยหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่มีความซ้ำกับดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว แต่ภายหลังมีชาวเยอรมัน มาทำการสำรวจและวัด ซึ่งปรากฎผลว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ที่อำเภอแม่แจ่มมีความสูงกว่า ดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยอินทนนท์"
         อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ "ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์" ต่อมาได้ถูกสำรวจและจัดตั้งเป็นหนึ่งในสิบสี่ ป่าที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งครั้งแรกกรมป่าไม้เสนอ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ให้มี พื้นที่ 1,000 ตร.กม. หรือประมาณ 625,000 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อาศัยอยู่ก่อนหลายชุมชน จึงทำการสำรวจใหม่ และกันพื้นที่ที่ราษฎร อยู่มาก่อน และคาดว่าจะมีปัญหาในอนาคตออก จึงเหลือพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 270 ตร.กม. หรือประมาณ 168,750 ไร่ ประกาศลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 และในวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รัฐบาลประกาศพื้นที่เพิ่มอีกเป็น 482.4 ตร.กม. อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ มีความสูงจากระดับน้ำทะลปานกลาง 400-2,565.3341 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยสำหรับวัตถุประสงค์ในการกำหนดที่ดินให้ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมวด 1 มาตรา 6


ประวัติส่วนตัว

                                                                   
                                                           ประวัติส่วนตัว



ชื่อ           นางสาวพรรณนิศา  ทองก้อนสิงห์ รหัส 54128105
ชื่อเล่น     แอ๊ปเปิ้ล
เชื้อชาติ  ไทย  สัญชาติ  ไทย  ศาสนา พุทธ  สถานภาพ  โสด
เกิด          วัน พุธ  ที่  12  สิงหาคม 2535
ที่อยู่ปัจจุบัน
                5 หมู่ 19 ต. ช่างเคิ่งง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  50270
โทร.        082-8929675
อีเมล์       banana_ple_lovely@hotmail.com
ประวัติการศึกษา
    ระดับประถมศึกษา
        โรงเรียนชุมชนศรีจอมทอง อำเภอ จอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
    ระดับมัธยมตอนต้น
        โรงเรียนจอมทอง  อำเภอ จอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
     ระดับมัธยมตอนปลาย
         วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่
     ปัจจุบันกำลังศึกษา ปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชา ภาษาอังกฤษธุรกิจระหว่างประเทศ คณะ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
นิสัยส่วนตัว  เป็นคนโกรธง่ายหายเร็ว เอาแต่ใจ
คติประจำใจ  ทำวันนี้ให้ดีที่สุด
งานอดิเรก  ฟังเพลง เล่นเกม
ความใฝ่ฝันในอนาคต  มัคคุเทศน์